Blinking Cute Box Cat

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บทความของเล่น สำคัญอย่างไรกับพัฒนาการของเด็ก ๆ


ของเล่น สำคัญอย่างไรกับพัฒนาการของเด็ก?



วัยเด็กของทุกคน มีสิ่งสำคัญที่เปรียบเสมือนเพื่อนก้าวผ่านข้ามวันเวลาอันสดใส นั่นก็คือ“ของเล่น”
บางครั้ง คนมักคิดว่าของเล่นไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสักเท่าไร แต่ที่จริงแล้วของเล่นมีคุณค่าและความหมายมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เพราะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อย
พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม กล่าวว่า ของเล่นมีความสำคัญ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าพ่อแม่ต้องซื้อของเล่นแพงๆ ให้ลูกเล่น
“ของเล่นอาจจะเป็นแค่ลูกปิงปองมาห่อผูกทำเป็นตุ๊กตา เหมือนตุ๊กตาไล่ฝนของญี่ปุ่น หรืออาจเป็นหนังสติ๊กเอามาร้อย หรือแค่กระดาษเปล่าๆ ก็สามารถนำมาเป็นของเล่นได้ นั่นหมายถึง การเล่นของเด็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าของเล่นนั้นคืออะไร และอีกสิ่งที่สำคัญมาก คือ คนที่เล่นกับเด็กจะต้องมีเทคนิควิธีเล่นกับเด็กที่เหมาะสมด้วย”
เห็นไหมล่ะว่า เด็กแต่ละวัยก็มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันไป บางครั้งบางคราวของเล่นของแต่ละวัยก็มีความคาบเกี่ยวกันอยู่เหมือนกัน จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องคอยสังเกตพัฒนาการของลูกน้อยแล้วก็พยายามเลือกสรรของเล่นที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย
คุณหมอยังได้แนะนำด้วยค่ะว่าถ้าพ่อแม่ไม่แน่ใจว่าจะเลือกอะไรให้ลูกดี ก็สามารถลองปรึกษาผู้รู้หรือหาอ่านตามหนังสือเอาก็ได้ และก็ไม่จำเป็นต้องหาซื้อแต่ของเล่นที่แพงๆ เท่านั้น
“ยุคสมัยนี้มีเครื่องเล่นมากมายที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก แต่บางครั้งพ่อแม่กลับไม่รู้ว่าจะเลือกของเล่นให้ลูกได้อย่างไร …ถ้าจะพูดกันจริงๆ แล้ว การที่เด็กจะเกิดการพัฒนาจากการเล่นนั้น พ่อแม่จะต้องเลือกของเล่นที่ไม่ง่ายและไม่ยากเกินไป มีความท้าทายให้เขานิดๆ เพราะถ้าง่ายไป เด็กจะเบื่อ แต่ที่สำคัญที่สุดควรจะมีคนเล่นกับเด็กเพราะถึงแม้ของเล่นจะดี จะแพงแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนเล่นด้วย เด็กก็จะไม่เล่น”

การเล่นเพื่อช่วยเสริมพัฒนาการ
หากจะแบ่งช่วงวัยและพัฒนาทักษะให้แก่เด็กเล็กอย่างง่ายๆ แล้ว คุณหมอบอกว่า แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 0-18 เดือน และ 18 เดือน-3 ปี


“ช่วง 0-18 เดือน เรียกว่าวัยทารก เป็นวัยที่เด็กเรียนรู้และสำรวจโลก การพัฒนาเด็กจะต้องให้เขาได้พัฒนาระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น ในช่วง 9 เดือน เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งของต่างๆ ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะหายไปจากที่เขาเห็น เช่น เมื่อเรายื่นตุ๊กตาให้เขาพอเขาจะเอื้อมมาหยิบ เรารีบเอาผ้าอ้อมปิดไว้ เขาจะดึงผ้าขึ้นเพื่อค้นหาตุ๊กตา วัยนี้จึงชอบเล่นจ๊ะเอ๋ เมื่อถึงช่วง 10-12 เดือน กล้ามเนื้อมือของเด็กจะดีขึ้น เราก็ลองให้เด็กเริ่มเอาของชิ้นเล็กใส่ถ้วย ใส่กล่อง หัดเทของออก แล้วเก็บเข้าใส่กระป๋อง
…จากนั้นพอ 18 เดือนจึงค่อยเริ่มสอนให้เขารู้จักอวัยวะ สัตว์ต่างๆ ดูภาพในลำดับที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะมีจิตนาการมากขึ้น เขาอาจจะเล่นทำครัวขายของ เลี้ยงน้องตุ๊กตา พ่อแม่เป็นผู้ที่มีบาบาทสำคัญที่สุดในการเฝ้าสังเกตพัฒนาการของลูก โดยควรศึกษาหรือหาอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆ หรือสอบถามแพทย์หรือคุณครู”
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณหมอแนะนำก็คือ พ่อแม่ต้องให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจากของจริง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรก


“ช่วงเล็กๆ เด็กจะเรียนรู้โดยผ่านระบบประสาทสัมผัสต่างๆ จากของจริง อย่างเช่น เขาจะรู้ว่าวัสดุชิ้นไหนนิ่ม หรือแข็ง การมองเห็นวัตถุต่างๆ การรับกลิ่น รับรสชาติและการฟัง จากทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญาของเปียเจต์บอกไว้ว่าเด็กจะเรียนรู้โลกโดยผ่านระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว
อย่างช่วงเล็กๆ ที่เด็กเริ่มถีบขาได้แล้ว ถ้าหากเราติดโมบายไว้ให้เขา แล้วเด็กบังเอิญถีบขาไปโดนโมบายแล้วเกิดการเคลื่อนไหว เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า ถ้าทำอย่างนี้โมบายจะแกว่งไปมา เด็กก็จะถีบขาเพื่อให้มันแกว่งเกิดการเรียนรู้ไปโดยปริยาย”

การเล่นเพื่อพฤติกรรมที่เหมาะสม
ในบางช่วงเวลา เด็กอาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งถือเป็นพัฒนาการตามวัย อย่างเช่น การที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหาร คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจใช้วิธีบังคับลูก หรือบางคนอาจจะโอ๋เด็กถึงขนาดที่ว่าต้องคอยวิ่งตามป้อนข้าวป้อนน้ำไปเสียทุกที่ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องนัก
อันที่จริงแล้วเราสามารถนำการเล่นมาใช้เพื่อปรับพฤติกรรมของลูกได้ พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความสุข ด้วยการนำตุ๊กตามาเล่นบทบาทสมมติว่ากำลังจะกินข้าวเหมือนกัน เด็กก็จะรู้สึกว่ามีเพื่อนกิน เขาจะรู้สึกสนุก หรืออย่างบางทีลูกทำตัวไม่น่ารัก ไม่เหมาะสม ก็สามารถแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมผ่านไปทางตุ๊กตาให้ลูกรับรู้ได้ว่า พี่ตุ๊กตาทำอย่างนี้ คือน่ารัก


“นอกจากนี้เด็กยังสามารถแสดงความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านการเล่น อย่างถ้าเขาอยู่โรงเรียนต้องฟังครูสอน พอกลับมาบ้านเขาอาจจะทำทีท่าเป็นครูสอนตุ๊กตาอีกที เป็นการทบทวนประสบการณ์ที่ได้รับมา โดยเด็กจะสลับบทบาทด้วยการทำตัวเป็นครูสอนเองบ้าง พ่อแม่ก็จะสามารถรู้ได้ถึงสิ่งที่เด็กต้องประสบพบเจอมาได้จากการเล่นของเขา” พญ. นลินี กล่าว

เล่นอย่างไรเมื่อลูกน้อยไม่สบาย
ถ้าหากลูกน้อยของคุณเกิดอาการไม่สายขึ้นมา หากสังเกตให้ดีๆ ก็จะพบว่าเจ้าหนูของเราไม่ได้หยุดกิจกรรมการเล่นเสียทีเดียวนะคะ เด็กบางคนจะอึดมากถึงขนาดที่ว่าไขขึ้นสูงแล้วก็ยังไม่ยอมหยุดเล่น ในขณะที่บางคนอาจจะนั่งซึมๆ ไปหน่อย แต่พอไข้ลดแล้วก็เล่นต่อ เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นได้ค่ะว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปห้ามเด็กไม่ให้เล่นในขณะที่เขาเจ็บป่วย


“ความเจ็บป่วยถือเป็นความเครียดอย่างหนึ่งของเด็กถ้าหากพ่อแม่บังคับให้เขาหยุดเล่นอีก เขาก็จะรู้สึกเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดพ่อแม่ก็ควรจะปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสเล่นอย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจของเขาในขณะนั้น อย่างเวลาที่พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็จะมีพื้นที่สำหรับให้เด็กเล่นก็ควรจะให้เขาได้เล่นแม้แต่เด็กที่ป่วยมากจนจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ควรจะมีโอกาสได้เล่น เพราะการที่เด็กต้องย้ายที่มานอนค้างที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยและยังรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งต่างๆ ที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอ คุณพยาบาล การฉีดยา ให้น้ำเกลือ หากเขามีโอกาสได้เล่นก็จะทำให้เด็กสามารถระบายความรู้สึก ลดความตึงเครียดออกไปได้ รวมทั้งยังได้ปฏิบัติในสิ่งคุ้นเคยที่ปฏิบัติอยู่ทุกวัน นั่นคือ การเล่น” พญ. นลินี ทิ้งท้าย
การเล่นจึงเปรียบได้เทียบเท่ากับปัจจัยที่ 5 ของเด็กทุกคนเป็นกิจกรรมที่สำคัญสำหรับเด็ก เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเล่น ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญาดี การประยุกต์การเล่นเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ จะช่วยให้เด็กมีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์สนุกสนานและมีความสุข
ที่สำคัญการเล่นเป็นกิจกรรมที่ต้องสอน และควรได้รับการส่งเสริมจากคุณพ่อคุณแม่ ลูกจะได้เรียนรู้การใช้ประสาทสัมผัส สัญลักษณ์ และสื่อความคิด ความเข้าใจโดยผ่านการเล่น ซึ่งมักจะมีอุปกรณ์สำคัญในการเล่นที่เรียกว่า “ของเล่น” และของเล่นจึงมีความสำคัญสำหรับพัฒนาการของลูก

อันตรายที่เกิดจากการเล่น
มักเกิดขึ้นเมื่อเด็กวัยทารก หรือวัยหัดเดินเล่น ของเล่นสำหรับเด็กโต สะดุดของเล่นที่ทิ้งไว้ไม่เก็บเข้าที่ภายในหลังการเล่น ส่วนใหญ่อันตรายที่เกี่ยวข้องกับของเล่นมักหลีกเลี่ยงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสอนลูกถึงการเล่นที่ถูกวิธีและเหมาะสม

ของเล่นที่อาจมีอันตราย
ได้แก่รถหัดเดิน ประทัดและดอกไม้ไฟ ปืนอัดลม ปืนแก๊บ ของเล่นที่เด็กอาจเลียนแบบความรุนแรง ประเภท มีด ดาบ วิดีโอเกมส์ ลูกโป่ง ลูกบอล หรือลูกปัดเล็กๆ ของเล่นที่มีเชือกหรือสายรัด ประเภท กีตาร์ ริบบิน ของเล่นที่แขวนในเปลหรือเตียงเด็ก ของเล่นที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายเจือปน ประเภท สี หรือภาชนะเลียนแบบขวดยา สารเคมีต่างๆ ภายในบ้าน ลูกเหวี่ยงหรือโยโย่ สกูตเตอร์ สเกตบอร์ด หรือจักรยาน ฯลฯ ของเล่นที่ลูกเล่นอยู่ทุกวันนั้นอาจมีอันตรายแอบแฝงอยู่ก็ได้ แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตของเล่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานอย่างหนักแล้วก็ตาม

อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนเลือกของเล่นให้ลูก
  • ลองดูที่กล่องของเล่น จะมีระบุว่าเหมาะกับเด็กวัยใด ควรเลือกให้เหมาะกับลูกเรา หากมีคำเตือนระบุอยู่ต้องอ่านให้ละเอียด
  • ดูที่ตัวของเล่นว่ามีความแข็งแรงทนทานหรือไม่ รวมทั้งระวังอย่าให้มีส่วนที่แหลมคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก
  • ถ้าซื้อตุ๊กตาแบบที่เป็นผ้าเย็บ ต้องตรวจดูการแข็งแรงของการเย็บ อย่าให้มีชิ้นส่วนหลุดลุ่ยออกมา
  • ของเล่นที่มีเชือกเป็นส่วนประกอบ ความยาวเชือกไม่ควรยาวกว่ารอบคอเด็ก

ของเล่นเด็กมีมากจะดีหรือ?
ปัจจุบันยังมีแม่อีกมากที่ชอบซื้อของเล่นให้ลูก คุณแม่ส่วนใหญ่ชอบเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการ เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของลูกแทนเวลาที่แม่ไม่อยู่ ของเล่นพวกนี้คงจะเป็นเครื่องมือช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีได้ไม่มากก็น้อย ฟังดูก็มีเหตุผล แต่จะถูกหรือผิด ไปดูผลงานการวิจัยกันค่ะ
รศ.พญ.นิตยา คชภักดี กุมารแพทย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการเด็กเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ถ้ามากเกินไปกลับส่งผลให้เกิดความเครียด เปรียบเหมือนเราไปในสถานที่ที่มีแสงสีเสียงมากๆ ทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะและมีสมาธิจดจ่อน้อยลงด้วย ส่วนของเล่นที่ยากเกินอายุ แทนที่จะส่งผลดีต่อเด็ก แม่ซื้อรถบังคับวิทยุทั้งที่ลูกเพิ่งจะอายุ 2 ขวบ เขาก็จะไถให้มันวิ่ง พอมันไม่วิ่ง เด็กก็จะโกรธและขว้างทิ้ง คุณก็จะโกรธว่าของเล่นดีๆ แพงๆ ทำไมลูกถึงทำอย่างนั้น สรุปคือเสียอารมณ์ทั้งแม่และลูก การเลือกของเล่นจึงต้องเหมาะกับพัฒนาการของเด็กด้วย
รศ.ดร.จิตินันท์ เตชะคุป ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นของเด็กทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า ที่สหรัฐอเมริกามีคุณพ่อท่านหนึ่งสร้างห้องสำหรับเล่นให้ลูก ภายในห้องมีของเล่นเยอะมากแต่แทนที่ลูกจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่พ่อหามาให้ ลูกกลับไม่ยอมเล่นเลยเพราะความมีมากเกินไป ต่างกับอีกครอบครัวหนึ่งที่ผู้ปกครองหาเวลามาเล่นกับลูกแทนการใช้ของเล่น คือเป็นการเล่นในลักษณะทางกาย คุณพ่อจะเล่นมวยปล้ำกับลูก ส่วนคุณแม่จะสอนในลักษณะการสอนเรื่องสี ขนาดรูปทรง จากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เด็กมีพัฒนาการที่ดี เพราะได้คิดตามผู้ใหญ่ การให้เล่นของเล่นที่ไม่มีสภาพเหมือนของจริง เช่น เอากล่องกระดาษมาจินตนาการว่าเป็นรถ จะพัฒนาความคิดซับซ้อนให้กับเด็กซึ่งดีกว่าการเล่นของเล่นที่เหมือนจริง เนื่องจากเด็กต้องใช้จิตนาการว่ากล่องกระดาษเป็นรถนั่นเอง
ส่วนในต่างประเทศมีการวิจัยในเรื่องนี้หลายชิ้น เช่น มิลแคร์ เลิร์นเนอร์ ชาวอเมริกัน นักวิจัยด้านพัฒนาการเด็กวัย 1-3 ปี พบว่าเด็กที่มีของเล่นมากเกินไป จะลดความสนใจที่จะเล่นของเล่นของตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีของเล่นน้อยชิ้นกว่า ซึ่งตรงกับผลงานการวิจัยของ แคธี่ซิลเวียนักวิจัยคณะจิตวิทยาการศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในเรื่องความสัมพันธ์เชิงซ้อน เกี่ยวเนื่องระหว่างการก้าวหน้าของเด็ก ชนิดของเล่นที่ให้กับเด็ก และเวลาที่พ่อแม่เล่นกับลูก พบว่าของเล่นที่มากชิ้นแทนที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก กลับทำให้เด็กลดความสนใจของเล่นลง และใช้เวลากับของเล่นไม่นานนัก จนไม่สามารถเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของของเล่นชิ้นนั้นได้
ประเทศอังกฤษมีการทำวิจัยว่า ผู้ปกครองซื้อของเล่นเป็นจำนวนเงินถึง 1.67 พันล้านปอนด์ต่อปี เฉลี่ยปีละ 139 ปอนด์ต่อเด็ก 1 คน ในจำนวนนี้เป็นของเล่นที่ซื้อมาแล้วเด็กไม่ได้เล่น ตีเป็นเงินถึง 5 พันล้านปอนด์
Mr.Orhan Ismail นักวิจัยจากประเทศอังกฤษ สังเกตพฤติกรรมจากลูกของตนเองว่า เมื่อได้ของเล่นหลายชิ้นจะเล่นปุ๊บปั๊บแล้วเลิก หันไปหาอย่างอื่นเล่นแทน เช่น รองเท้าแตะใส่เดินในบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในของใช้ที่มีอยู่ทั่วไปในบ้าน
มีผู้แสดงความเห็นว่า การกระตุ้นให้ลูกออกไปวิ่งเล่นข้างนอกบ้านจะดีกว่า แต่ถ้าอยู่ในบ้าน การให้เล่นกล่องกระดาษจะดีกว่าตุ๊กตาบาร์บี้ เพราะกล่องกระดาษช่วยให้ลูกสามารถสร้างจิตนาการเอาเองได้มากกว่าเนื่องจาก จะสมมติเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ความนึกคิดของเด็ก ในขณะที่ตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีชุดแต่งตัวเป็นทันตแพทย์ ก็จะหยุดจินตนาการของเด็กเพียงแค่นั้นนอกจากนี้มีงานวิจัยที่รวบรวมเป็นหนังสือช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ว่าวิธีดังกล่าวช่วยสร้างให้เด็กมีความภาคภูมิใจ เชื่อมั่นในตนเอง และในทางกลับกัน หากเด็กใช้เวลามากเกินไปกับการเล่น เช่น เด็กที่ติดเกมส์คอมพิวเตอร์ จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างจิตนาการของเด็กจำกัดหรือลดน้อยลงด้วย
ฉะนั้นของเล่นที่มากเกินไป รวมถึงเวลาในการเล่นของลูก ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพทางปัญญาของลูกได้ หากขาดคุณภาพ ซึ่งในที่นี้ก็คือคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องคอยดูแลเอาใจใส่เล่นกับลูก เพราะถึงแม้คุณจะมีเวลาไม่มาก แต่ถ้าเวลาเหล่านั้นผ่านไปอย่างมีคุณภาพ เด็กได้เล่นและเรียนรู้อย่างพอดีไปในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ช่วงเวลาที่เกิดประโยชน์สูงสุดได้ค่ะ

7 เรื่องที่แม่ต้องรู้เมื่อซื้อของเล่น


1. เหมาะสมตามวัย ตรงกับวัยหรือพัฒนาการของลูกหรือไม่ การเลือกซื้อของเล่นที่ยากหรือง่ายเกินไปสำหรับเด็ก เด็กจะไม่เล่น ดังนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกมีพัฒนาการอย่างไร และเลือกซื้อของเล่นที่ท้าทายความสามารถเด็กพอสมควร
ไม่ควรประหยัด ซื้อของเล่นที่เกินวัยเพื่อหวังว่าเขาจะสามารถใช้ได้จนโต เช่น คุณซื้อภาพจิ๊กซอว์หรือเลโก้สำหรับเด็ก 5 ขวบ ให้เด็ก 3 ขวบ ซึ่งความยากง่ายของการต่อนั้นจะต่างกัน นอกจากเด็กจะทำไม่ได้แล้วเขาอาจเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ชอบของเล่นประเภทนี้ไปเลยก็ได้
2. ความเหมาะสมของวัสดุ วัสดุที่ใช้ในการทำจะต้องปลอดภัยไม่มีสารที่เป็นอันตรายกับเด็ก ไม่มีเหลี่ยมคมทำให้เกิดบาดแผล ต้องเป็นสีที่ไม่อันตราย (non-toxic) เพราะสีบางอย่างอาจผสมสารตะกั่ว สารปรอท หลีกเลี่ยงของเล่นที่มีส่วนแหลมคมที่จะเป็นอันตรายให้กับเด็ก หรือของเล่นที่เป็นวัสดุเล็กๆ สามารถถอดได้ เพราะบางทีอาจจะหลุดเข้าปาก ทำให้เด็กสำลักติดคอ เป็นอันตรายได้เช่นกัน
3. ก่อให้เกิดทักษะในการพัฒนา ถึงแม้ว่าของชิ้นนั้นจะมีความวิเศษสักเพียงใด แต่หากขาดการเล่นด้วยวิธีที่ถูกต้อง ความวิเศษนั้นก็ไม่ส่งผลอะไรกับเด็ก
4. ควรให้เด็กได้เป็นศูนย์กลางของการเล่น ของเล่นที่ดีจะต้องเป็นของเล่นที่เด็กสามารถใช้จิตนาการในการเล่นได้ เด็กเป็นผู้กำหนดบทบาทและวิธีการเล่นด้วยตนเอง แทนการกดปุ่มให้ของเล่นนั้นแล่นไปตามกลไกที่ตั้งไว้ ตัวอย่างของเล่นที่เด็กเป็นศูนย์กลางในการเล่น เช่น บล็อคไม้ เลโก้
5. เด็กจะต้องเล่นด้วยความสนุกสนาน ตรงกับความพอใจของเด็กพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกชอบและสนใจด้านไหน และไม่ควรบังคับให้ลูกเล่นของเล่นที่แม่ซื้อมา โดยที่ลูกไม่อยากเล่น เพราะของเล่นชิ้นนั้นๆ อาจจะไม่เหมาะกับวัยที่จะทำให้สนใจเล่นก็ได้
6. เกิดความสนใจของเด็กโดยตรง ลูกอาจจะชอบปั้นรูปสัตว์ที่เคยเห็นจากหนังสือ คุณอาจจะพาลูกไปสวนสัตว์เพื่อดูสัตว์จริงๆ
7. ราคาที่เหมาะสม ของเล่นบางชนิดไม่จำเป็นที่จะต้องมีราคาแพงถึงแม้ว่าของเล่นนั้นจะราคาเพียง 10 บาท หรือ 20 บาท แต่มันสามารถที่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ คุณแม่อาจจะประดิษฐ์ของเล่นขึ้นเอง เช่น นำขวดยาสระผมมาล้างให้สะอาดจากนั้นใส่กรวด เพื่อให้เด็กเขย่าให้เกิดเสียง สำหรับเด็กเล็ก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของเล่นที่ทำให้ลูกสนใจได้ไม่น้อย

(update 31 สิงหาคม2006)
[ ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.155 June 2006]


แหล่งอ้างอิง http://www.elib-online.com/doctors49/child_toy003.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น